ประเภทของว่าว
ปัจจุบันว่าวแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
1. ว่าวแผง คือ ว่าวที่ไม่มีความหนา มีแต่ส่วนกว้าง และส่วนยาว ตัวอย่างเช่น ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวแอก(ว่าวแอว) ว่าวอีลุ้ม ว่าวอีแพรด ว่าวเดือน ว่าวหน้าควาย หรือว่าวรูปสัตว์ต่าง ๆ
2. ว่าวภาพ คือ ว่าวที่ประดิษฐ์ให้มีลักษณะพิเศษ เพื่อแสดงแนวคิด ฝีมือในการประดิษฐ์ แบ่งเป็นประเภทย่อยได้ 3 ชนิด ดังนี้
2.1. ว่าวประเภทสวยงาม
2.2. ว่าวประเภทความคิดสร้างสรรค์ เช่น ว่าวผีเสื้อ ว่าวนก ว่าวเครื่องบิน
2.3. ว่าวประเภทตลกขบขัน
ว่าวแผงเท่านั้นที่นิยมนำมาแข่งขัน ส่วนว่าวภาพจะทำขึ้นสำหรับอวดรูปร่าง และนิยมชักให้ลอยนิ่งอยู่ในอากาศให้คนชม
ว่าว รูปแบบต่างๆ
ว่าวจุฬา
มีลักษณะเป็น 5 แฉก ประกอบเป็นโครงขึ้นด้วยไม้ 5 อัน นักเลงว่าวจะเสาะหาไม้ไผ่สีสุกที่มีปล้องยาวเรียว เรียกว่า “เพชรไม้” มาเหลา อันกลางเรียกว่า “อก” เหลาปลายเรียวหัวท้าย 1 อัน อีก 2 อัน ผูกขนาบตัวปลายให้จรดกันเป็นปีก และอีก 2 อัน เป็นขาว่าวเรียกว่า “ขากบ” จากนั้นขึงด้ายเป็นตารางตลอดตัวว่าว เรียกว่า “ผูกสัก” แล้วใช้กระดาษสาปิดทับลงบนโครง สำเร็จเป็นว่าวจุฬา ถ้าหากไม่ถูกสัดส่วนแล้ว ว่าวจะไม่อาจลอยตัวขึ้นได้เลย
ว่าวดุ้ยดุ่ย
มีรูปร่างแบบเดียวกับว่าวจุฬาแต่ขากบเป็นรูปเดียวกับปีก ติดอยู่ซ้อนกัน ส่วนบนใหญ่ส่วนล่างจะเล็ก สุดตัวตอนล่างมีไม้ขวางอีกอันหนึ่ง สำหรับผูกหาง ซึ่งมีสองหางช่วยในการทรงตัวเมื่อลอยขึ้นไปอยู่ในอากาศ ส่วนบนของหัว ไม้อันที่เป็นอกยื่นออกมาในราวหนึ่งคืบ เป็นเดือยในลักษณะสี่เหลี่ยมเพื่อเสียบที่ทำเสียง ซึ่งเป็นคันเหมือนที่ทำกระสุนหรือธนู ทำด้วยไม้ไผ่ เจาะรูให้เป็นสี่เหลี่ยม กึ่งกลางคันให้พอดีกับเดือยสี่เหลี่ยมที่ยื่นออกมา ตัวกลางที่ทำให้เกิดเสียงนั้น ใช้ไม้ไผ่หรือหวายเส้นโตๆ
ว่าวปักเป้า
มีลักษณะเช่นเดียวกับว่าวอีลุม แต่ทว่าไม้ส่วนโครงที่เป็นปีกจะแข็งกว่าปีกของอีลุ้มมาก จึงต้องมีหางที่ทำด้วยผ้าเป็นเส้นยาวถ่วงอยู่ที่ส่วนก้น เมื่อชักขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศแล้วจะไม่ลอยอยู่เฉยๆจะส่ายตัวไปมาน่าดูมากและเมือถูกคนชักกระตุกสายเชือกป่านตามวิธีการแล้ว มันจะเคลื่อนไหวโฉบเฉี่ยวไปมาท่าทางต่างๆตามต้องการ
ว่าวควาย
ว่าวควายเปรียบเหมือนว่าวดุ๊ยดุ่ยของภาคใต้ ตอนบนมีปีกโค้งเช่นเดียวกับว่าวดุ๊ยดุ่ย แต่ตอนล่างทำโครงรูปร่างเหมือนหัวควาย มีเขายาวโค้งรับกับปีกบน ส่วนหัวติดแอก เพื่อให้เกิดเสียงดังคล้ายเสียงร้องของควายขณะเมื่อว่าวถูกชักขึ้นสู่ท้องฟ้า ว่าวควายจัดได้ว่า เป็นเอกลักษณ์ของว่าวภาคใต้ประเภทหนึ่ง ที่ไม่เหมือนกับว่าว ของภาคอื่นๆ โดยเฉพาะจังหวัดสตูลซึ่งเริ่มทำว่าวควายเป็นแห่งแรก และนำมาใช้ในการแข่งขัน ประเภทมีเสียงดังกังวาน แต่ละปีมีว่าวควายเข้าร่วมแข่งขัน จำนวนถึง ๓๐๐ ตัว และเป็นประเพณีที่มีมาจนถึงปัจจุบัน
ว่าวอีลุ้ม
มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีไม้ไผ่เป็นโครงสองอันคือ อกและปีกอกจะสั้นกว่าปีกเล็กน้อย กระดาษที่ใช้ปิดทาบลงบนโครงนี้ คือกระดาษว่าว ซึ่งบางเป็นพิเศษ ส่วนปลายของปีกทั้งสองข้างจะติดพู่กระดาษเพื่อช่วยในการทรงตัว ในขณะที่ว่าวลอยอยู่ในอากาศ มีหางสำหรับถ่วงน้ำหนักป้องกันไม่ให้ว่าวส่ายไปมาง
ว่าวพระร่วง
ว่าวพระร่วงเป็นว่าวที่มีลักษณะเหมือนคนมากที่สุด คือมีแขนและขามองเห็นได้อย่างชัดเจน มีรูปร่างสง่าเหมือนมนุษย์ผู้ชาย ขาจะยาวเอวจะอวบ รวมถึงลักษณะลายว่าวที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร คือรูปปลาตะเพียนโบราณ ที่มาจากบันทึกของหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่ว่า บ้านเมืองกูอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว
การฝึกทำว่าวพระร่วง ซึ่งถือเป็นว่าวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของสุโขทัย
ว่าววงเดือน
ว่าววงเดือน ในภาษามลายู เรียกว่า “วาบูแล” เกี่ยวพันกับเทพธิดา การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ตามตำนานเล่าว่า เมื่อราว 500 ปีโดยความเชื่อ ว่าวเป็นสื่อนำพามาซึ่งยารักษาโรคจากสรวงสวรรค์ เกิดเป็นประเพณีรักษาโรคต่างๆ ด้วยการใช้ว่าว อาทิ ศาสตร์แห่งการรักษาโรค ที่ใช้ว่าวมาทาบตัวผู้ป่วย โดยผ่านการแสดงที่ชื่อว่า “มะโย่ง”
ว่าวอีแพรด
ว่าวอีแพรดภาคกลางมีรูปแบบเช่นเดียวกับว่าวอีแพรดภาคเหนือ ต่างกันที่ว่าวอีแพรดภาคกลาง นิยมติดพู่ที่ห้อยปีกทั้ง ๒ ข้าง ส่วนภาคเหนือ ไม่นิยมติดพู่ ชื่อของว่าวน่าจะมาจากเสียงของชายกระดาษที่ติดอยู่ที่ด้านข้าง (ซึ่งเหลือทิ้งไว้ไม่ตัดออก) เวลาปะทะกับลมจะเกิดเสียงดังแพรดๆ
ว่าวงู
ว่าวงูเป็นว่าวรูปสัตว์ที่นิยมเล่นทั่วทุกภาคโครงว่าวทำง่ายๆ เป็นส่วนหัวและส่วนหา ส่วนหัวมีรูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู แต่ด้านบนโค้งมนคล้ายหัวงูกำลังแผ่แม่เบี้ย หางทำจากกระดาษย่น ยาวเรียวคล้ายหางงู รูปทรงที่ดูแปลกตาและสีสันฉูดฉาด ทำให้สวยงามโดดเด่น ถ้าเขียนเกล็ดจะสวยงามมากขึ้น ว่าวงูเป็นว่าวแผงที่ขึ้นง่ายที่สุด เพราะมีหางที่ถ่วงให้ขึ้น แต่การเล่นว่าวงูหรือว่าวแผงอื่นๆ ต้องเล่นในสภาพลมกำลังดี หากลมแรงมาก ว่าวจะควงทุกตัว
ว่าวนก
โครงของว่าวนกในช่วงปีกตอนบนมีลักษณะรูปร่างคล้ายว่าวควาย ต่างกันตรงตอนล่าง ที่มีการออกแบบ ให้เป็นรูปหางนกแบบต่างๆ ส่วนหัวทำเป็นรูปหัวนก และมักติดแอก เพื่อให้เกิดเสียงดัง ความสวยงามของว่าวนกอยู่ที่การออกแบบลวดลายและสีสันของตัวนก ว่าวนกบางตัวออกแบบรูปร่างของปีกคล้ายปีกนกจริงมาก เมื่อว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า จึงมีลีลา คล้ายการโผบินของนก ตามธรรมชาติ
ว่าวหัวแตก
ว่าวหัวแตกดัดแปลงรูปแบบมาจากว่าวอีลุ้ม แต่ผ่าหัวเป็น ๒ แฉก แล้วใช้กระดาษแผ่นเล็กๆ กว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร ขึงติดกับด้ายให้ตึง โยงติดระหว่างหัวที่ผ่าออก เมื่อว่าวลอยติดลมบน จะมีเสียงดัง
ว่าวใบไม้
ว่าวใบไม้ใช้ใบไม้ เช่น ใบตองชาด หรือใบตองกุง เมื่อตากแห้งแล้วสามารถนำมาผูกคอซุง ด้านหน้า ๒ เส้น และใส่หางไว้สำหรับผูกเชือก ที่ปลายใบประมาณ ๓ ช่วง แล้วนำหญ้าแฝกหรือหญ้าคามาผูกเป็นหางว่าว เป็นของเล่นพื้นบ้าน นิยมเล่นกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออาจผูกโครงว่าว แล้วนำใบไม้มากรุ แทนกระดาษว่าว ก็สามารถทำได้ โดยมักผูกขึ้นเป็นรูปทรงเรขาคณิตง่ายๆ เช่น วงกลม สามเหลี่ยม ครึ่งวงกลม ฯลฯ และต้องมีหาง ว่าวใบไม้มักไม่ทนทาน มีอายุการใช้งานสั้น แต่มีความโดดเด่นแปลกตาด้วยลักษณะพิเศษ ของวัสดุที่ใช้